Image Icon

483

Image Icon

0

กรณีตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในต่างประเทศ

กรณีตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในต่างประเทศ

การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศเดนมาร์ก

      ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศหนึ่งที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับแนวหน้าของโลกในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีตัวอย่างที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (industrial symbiosis) ซึ่งเป็นการประยุกต์จากอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (industrial ecology) ตัวอย่างที่เป็นต้นแบบการแลกเปลี่ยนวัสดุอุตสาหกรรม (industrial symbiosis) ที่เก่าแก่ที่สุดและประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ เมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มโรงงานที่มีการดำเนินงานแบบเกื้อกูลกัน

การแลกเปลี่ยนวัสดุอุตสาหกรรมของเมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg’s industrial symbiosis) เป็นการดำเนินงานที่เกื้อกูลกันในด้านการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycling of water) การส่งต่อพลังงาน (transfer of energy) และการนำของเสียอุตสาหกรรมมาใช้ใหม่ (recycling of waste products) รวมมากกว่า 35 โครงการ ระหว่างกลุ่มบริษัท 8 บริษัทกับเทศบาลเมืองคาลันบอร์ก

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดความร่วมมือเกื้อกูลกันเป็นผลจากการปรับปรุงการดำเนินงานที่ลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำไร โครงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและพลังงานดังกล่าว จะเกิดจากการเจรจาหารือกันระหว่างคู่ธุรกิจ ซึ่งปกติจะจับคู่กันเป็นคู่ ๆ ในแต่ละคราว กรณีของคาลันบอร์กนี้ กระบวนการการแลกเปลี่ยนวัสดุอุตสาหกรรมไม่ได้เกิดจากการวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดีมาก่อน แต่ละโครงการเกิดจากคู่ธุรกิจเจรจาตกลงกันในการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานร่วมกัน ทั้งนี้กลุ่มโรงงานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม และไม่มีการบริหารจัดการร่วมกันแต่อย่างใด

คู่ธุรกิจที่จับมือร่วมมือกันในช่วงเริ่มต้น เช่น เทศบาลเมืองคาลันบอร์ก กับสเตทออยล์ รีไฟเนอรี (Statoil refinery) หรือ เอสโซ่ (Esso) ในปัจจุบัน  เป็นต้น โดยสเตทออยล์ รีไฟเนอรีต้องการขยายกำลังการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต เทศบาลเมืองคาลันบอร์กจึงติดต่อขอซื้อน้ำจากเทศบาลข้างเคียงมาเสริมเพื่อขายให้แก่สเตทออยล์ รีไฟเนอรีเกิดธุรกิจที่ยังประโยชน์ให้แก่กันและกัน ต่อมา จึงมีการจับคู่ธุรกิจในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรน้ำ พลังงาน และกากของเสียอุตสาหกรรมเ พิ่มขึ้นตามมา

      ตัวอย่างการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง เช่น  ขี้เถ้าจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จะถูกนำไปใช้ในการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตสำเร็จรูป  ยิปซัมจากโรงงานจะถูกใช้ในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ (plasterboards) ของเสียจากการผลิตอินซูลินจะถูกนำไปผลิตปุ๋ย เป็นต้น สำหรับตัวอย่างด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรพลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำ การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมีผลทำให้บริษัทที่ร่วมมือกันมีผลกำไรสูงขึ้น

ปัจจุบันเทศบาลเมืองคาลันบอร์กอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้โรงงานใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบการเกื้อกูลกันของเมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg symbiosis) มากขึ้น และร่วมมือกันปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมตลอดถึงการจัดหาพลังงานทางเลือกต่าง ๆ โดยใช้หลักการของความยั่งยืนและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลให้เทศบาลเมืองคาลันบอร์กเป็นเทศบาลอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งใหม่ (new green industrial municipality) ในปี 2020 ประกอบด้วย การส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานใหม่มาใช้ในกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมกับเทศบาลเมืองคาลันบอร์ก เช่น ชีวมวล (biomass) ก๊าซชีวภาพ (biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy) ความท้าทายนี้นำมาสู่รูปแบบใหม่ของระบบการเกื้อกูลกันของเมืองคาลัน 

บอร์ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการในด้านการตั้งโรงไฟฟ้าสีเขียวคือ กลุ่มพลังงาน “DONGEnergy” ซึ่งมุ่งที่จะใช้ความร้อนที่ ไม่ทำให้เกิดโลกร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ สำหรับใช้ในเมืองคาลันบอร์ก

กล่าวโดยสรุป ระบบการเกื้อกูลกันของเมืองคาลันบอร์ก เกิดเป็นผลสำเร็จได้เนื่องจากมีการหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารของโรงงานที่เป็นคู่ธุรกิจ  มีการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของระบบการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบ และพิจารณาประโยชน์โดยรวมของทุกฝ่ายด้วยความจริงใจต่อกัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองคาลันบอร์ก มีเป้าหมายร่วมกันคือ สิ่งแวดล้อมสีเขียว (green environment) และสังคมยั่งยืน/การผลิตยั่งยืน (sustainable society and production)

การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศญี่ปุ่น

     ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่า เป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาอีโคทาวน์ (Eco-Town Model) โดยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านการส่งเสริมและการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยมีภาครัฐและกลุ่มทุนเป็นแกนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจเติบโตและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่การพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ทำให้คุณภาพน้ำและอากาศเสื่อมโทรมลง เนื่องมาจากการปล่อยของเสีย ปัญหาขยะและมลพิษต่าง ๆ ปัญหาการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในบางพื้นที่  การใช้เชื้อเพลิง พลังงาน และน้ำจำนวนมากเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและวิถีชีวิต นอกจากนี้ ผลจากข้อตกลงพลาซ่า แอคคอร์ด (Plaza Accord) ในปี 1985 ที่ทำให้เกิดการแข็งค่าของเงินเยนและส่งผลให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในแถบเอเซียและนำไปสู่ปัญหาการว่างงานรวมทั้งการตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากการแตกตัวของเศรษฐกิจฟองสบู่ในทศวรรษ 1990s ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ประกอบกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นานาชาติให้ความสำคัญ และเริ่มเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาไปสู่กระแสทางเลือกที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และคำนึงถึงคนรุ่นหลัง นับว่า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสแนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่น

     แนวทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนของญี่ปุ่นแนวทางหนึ่งคือ การส่งเสริมแนวคิดเมืองนิเวศ (Eco-Town) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นจากการเป็นแกนนำของรัฐบาลกลางญี่ปุ่นในปี 1997 โดยมอบหมายให้ 2 กระทรวงหลักเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเมืองนิเวศหรืออีโคทาวน์ ในญี่ปุ่นโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่มีบทบาทดังกล่าวคือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment: MoE) เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนที่ทิ้งขยะและความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้งแรงกดดันในการส่งเสริมให้เกิดการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (zero-emission) รัฐบาลจึงจัดตั้งอีโคทาวน์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะและช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ โดยการนำของเสียที่เกิดขึ้นกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้ง  รวมทั้งการควบคุมมลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม แนวคิดยังมีเป้าหมายเพื่อทำให้ปริมาณของเสียเข้าใกล้ศูนย์ ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ และเริ่มมีการนำแนวทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนไปปรับใช้ในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศของเมืองคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) การพัฒนาเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Model City) ของเมืองมินามาตะ เป็นต้น

ภาพที่เกี่ยวข้อง
Banner Border