แนวคิดการพัฒนาของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม เป็นเมืองหรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยให้มีความเชื่อมโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมหรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการได้ทุกระดับตั้งแต่ ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัวและโรงงาน (Eco Family / Eco Factory) ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านหรือตำบล (Eco Industrial Zone / Estate) ระดับเมือง (Eco Town / Eco City) หรือเครือข่ายของเมืองหรือจังหวัด

ลำดับขั้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเริ่มจากการพัฒนาภายในสถานประกอบการหรือโรงงานโดยนำ แนวคิดหลักของ Industrial Ecology มาใช้ และพัฒนาจากระดับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกอบการเดียวกัน (Zone/Estate) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่างๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่น และขยายตัวไปสู่การเชื่อมต่อกันระหว่างนิคมหลายนิคมในเขตอำเภอ จนกระทั่งเป็นระดับจังหวัด โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน ที่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการอุปโภคและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า การพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
แนวคิดของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) นับเป็นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและชุมชนโดยสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development: SD) โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนในท้องถิ่น
สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสำหรับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือ การลดการทิ้งหรือการปลดปล่อยของเสียออกจากโรงงานโดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด นอกจากนี้ยังต้องลดของเสียที่ออกจากนิคมอุตสาหกรรม โดยเพิ่มกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการของเสียจากโรงงานหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นของเสียอันตรายหรือไม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หากมีการกำจัดอย่างผิดวิธี นักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงมีแนวคิดที่จะลดปริมาณการทิ้งหรือการกำจัดของเสียเหล่านี้ โดยการจัดทำระบบการแลกเปลี่ยนของเสีย (Waste Exchange)
กล่าวคือเป็นการส่งต่อหรือแลกเปลี่ยนของเสียซึ่งไม่มีค่าสำหรับโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกโรงงานหนึ่งภายในเมืองอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อลดการทิ้งและการกำจัดของเสียในภาพรวม ของสวนอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด นักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมยังได้มีการมองโรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมหนึ่งๆ ในลักษณะของเครือข่ายขององค์กรที่สามารถเชื่อมโยง ส่งต่อหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากรการผลิตหรือผลพลอยได้ในการผลิตต่างๆ ระหว่างกันได้ ทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่าเป้าหมายสูงสุดของการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศคือการนำหลักการของ 3R (Reduce Reuse Recycle) มาใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างของประโยชน์ที่ได้จากการจัดการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้แก่
  • ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  • ลดปริมาณการเกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม
  • การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ลดปริมาณการเกิดของเสียที่ต้องบำบัดหรือกำจัด
 

เพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสินค้าพลอยได้ หรือของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิต

Banner Border