หลักการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นหน่วยงานแรกของประเทศที่ได้นำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนบนหลักการ “Eco” มาใช้ ด้วยการดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิง   เศรษฐนิเวศและเครือข่าย (Development of Eco Industrial Estate & Networks Project: DEE + Net Project) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ GTZ ประเทศเยอรมนี โดยดำเนินการในนิคมอุตสาหกรรมนำร่อง 5 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 กนอ. มีวิสัยทัศน์การเป็นเมืองอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2553 กนอ. ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) “เป็นองค์กรนำประสานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีดุลยภาพและความยั่งยืน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต เพื่อสมรรถนะการแข่งขันในระดับสากล”

            ในปี พ.ศ. 2553  กนอ. ได้เริ่มต้นพัฒนาและจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็น 5 มิติ 24 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1) มิติทางกายภาพ 2) มิติทางเศรษฐกิจ  3) มิติทางสิ่งแวดล้อม 4) มิติทางสังคม และ 5) มิติทางการบริหารจัดการ รวมถึงคุณลักษณะ องค์ประกอบของการพัฒนา แนวทางการพัฒนาสำหรับแต่ละด้าน ต่อมา กนอ. สรุปทบทวนตัวชี้วัดดังกล่าวเชื่อมโยงกับมาตรการ แนวทางในการพัฒนา ได้เป็นข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ใน 5 มิติ 22 ด้านของ กนอ.ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555

  1. การพัฒนาและยกระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

            กนอ. ได้จัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน เป็นพื้นฐานของทุกนิคมอุตสาหกรรมในการก้าวเข้าสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการขอการรับรองเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะต้องดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

           1) คุณลักษณะขั้นต้นของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

  • ผู้บริหารสูงสุดของนิคมอุตสาหกรรมกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการศึกษาข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อนำข้อกำหนดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลพื้นฐาน ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาปิดช่องว่างหรือพัฒนายกระดับนิคมฯ มุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน
  • ผู้บริหาร ทำการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Team) ซึ่งประกอบด้วยพนักงาน กนอ. ผู้พัฒนา (ถ้ามี) และบริษัทผู้บริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค (ได้แก่ GUSCO, GETGO เป็นต้น) เพื่อเป็นบุคลากรขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย พร้อมทั้งพิจารณาจัดตั้งเครือข่ายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Committee) ที่ครอบคลุมตัวแทนของทุกภาคส่วน อันประกอบด้วย พนักงาน กนอ. ผู้พัฒนา (ถ้ามี) ผู้ประกอบการ หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม
    • นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำและขอการรับรองระบบการจัดการมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

       2) ขั้นตอนการจัดทำแผนแม่บทการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

               กระบวนการจัดทำแผนแม่บทพัฒนายกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีกระบวนการและรายละเอียด ดังนี้ (อ้างอิงแนวทางตาม : การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (2558) คู่มือการจัดทำแผนแม่บทการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศ)

    • ศึกษา/สำรวจสถานภาพปัจจุบัน (Self-Assessment: SA) ของพื้นที่นิคมฯ และการดำเนินงานของนิคมฯ
    • วิเคราะห์สถานภาพปัจจุบันเทียบกับตัวชี้วัด (Indicator) ตามข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนา ยกระดับ ให้แก่นิคมฯ ซึ่งผลการเปรียบเทียบจะแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติม และทราบถึงจุดแข็งของนิคมฯ ที่สามารถพัฒนายกระดับได้
    • วิเคราะห์สถานภาพ ศักยภาพ และความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ที่เรียกว่า Situation Analysis and Assessment Report (SAA Report) โดยขั้นแรกจะเป็นการรวบรวมแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่นิคมฯ จะต้องดำเนินการและจะดำเนินการทั้งหมดในแต่ละมิติมาเรียงไว้ หลังจากนั้นจะพิจารณาถึงศักยภาพของนิคมฯ จากบริบทภาพรวมของนิคมฯ จำนวนและทักษะของบุคลากร และงบประมาณ นำไปสู่การจัดทำประเด็นพัฒนานิคมฯ ในแต่ละมิติ ซึ่งในกรณีนี้เรียกว่า ร่างประเด็นการพัฒนาทั้งนี้ ในแต่ละ ประเด็นการพัฒนาจะประกอบด้วยแผนงาน/โครงการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละประเด็นพัฒนา
    • ศึกษาความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยกระบวนการมีส่วนร่วม (Stakeholders Analysis) โดยนิคมฯ จัดประชุมระดมความคิดต่อประเด็นปัญหา/โอกาสในการยกระดับนิคมฯ สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) กับการดำเนินงานของนิคมฯ ทั้งทางตรง ได้แก่ ผู้พัฒนา ผู้ประกอบการ เป็นต้น และทางอ้อม ได้แก่ ชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปวิเคราะห์ SAA ต่อไป
    • สรุปสถานภาพและศักยภาพในการพัฒนาและความสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ (Situation Analysis and Assessment : SAA Report) โดยเปรียบเทียบสถานภาพและศักยภาพในการพัฒนา ปัญหา และโอกาสในการปรับปรุงพัฒนา รวมทั้งความสอดคล้องกับความต้องการ ทัศนคติ และความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ซึ่งได้มาจากการระดมความคิดเห็น สรุปเป็นรายงานสถานภาพ ประเด็นปัญหา/ศักยภาพในการพัฒนา และความสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ (SAA Report)
    • จัดทำประเด็น/เป้าหมายของการพัฒนา (Business Model) คณะทำงาน Eco Team ประจำนิคมฯ วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของแต่ละนิคมฯ และจัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่า ควรจะดำเนินการในด้านใดก่อนหลัง โดยวิเคราะห์ถึงการปิดช่องว่างประเด็นปัญหา และยกระดับศักยภาพที่มี ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ ทัศนคติ และความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วทำการสังเคราะห์ออกมาเป็นประเด็นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของนิคมฯ โดยมุ่งสู่เป้าหมายตามข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากนั้น นำเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง จัดลำดับโดยผู้บริหารระดับสูงอีกครั้งหนึ่ง จนได้เป็นประเด็นการพัฒนาของแต่ละนิคมฯ ประเด็นการพัฒนาดังกล่าวของนิคมฯ จะเป็นกรอบแนวทางในการนำไปจัดทำแผนแม่บทยกระดับนิคมฯ ต่อไป
      • จัดทำแผนแม่บทการยกระดับนิคมฯ สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากประเด็นการพัฒนาคณะทำงาน Eco Team ร่วมกันพิจารณาแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ประเด็นการพัฒนาแต่ละประเด็น โดยพิจารณาถึงกลยุทธ์ เป้าหมายระยะยาว 5 ปี เป้าหมายระยะสั้น (ประจำปี) ภายในระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี โดยแผนงาน/โครงการในแต่ละประเด็นการพัฒนาต้องมุ่งสู่เป้าหมาย ตัวชี้วัดตามข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตาม มิติและ ด้านที่สอดคล้องรองรับ ประเด็นการพัฒนานั้น ๆ ทั้งนี้ แผนแม่บทการยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะต้องตั้งอยู่บนฐานของการพัฒนานิคมฯ และชุมชนโดยรอบอย่างมีคุณภาพใน 5 มิติหลัก ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และใช้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนในชุมชนอยู่ดีมีสุข สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ แผนแม่บทฯ จะต้องอยู่บนฐานการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด และการพัฒนาส่งเสริมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
      • จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างแผนแม่บทฯ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแผนแม่บทฯ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นการพัฒนา กลยุทธ์ แผนงาน โครงการ เป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะยาวที่ปิดช่องว่างและพัฒนายกระดับนิคมฯ มุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ใน 5 มิติ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
      • ทบทวนปรับปรุงแผนแม่บทการยกระดับนิคมฯ นำร่องสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี
      1. การให้การรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.

                  ภายหลังที่นิคมอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแล้ว ให้นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดยผู้บริหารและคณะทำงาน Eco Team ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้พร้อมทั้งเก็บบันทึกข้อมูลผลของการปฏิบัติตามแผน และยื่นขอรับการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ ที่ต้องการ ทั้งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดทำเกณฑ์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็น 3 ระดับ เพื่อยกระดับและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามวิสัยทัศน์ของ กนอ. ดังนี้

                 ระดับที่ 1 “Eco-Champion” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุกบนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยนิคมอุตสาหกรรมจะต้องนำข้อกำหนดคุณลักษณะและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน มาเป็นกรอบมาตรฐานในการเปรียบเทียบเพื่อกำหนดประเด็น/ทิศทางการพัฒนาในแผนแม่บทพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านเกณฑ์บังคับ 22 ข้อ และเกณฑ์ของตัวชี้วัด 10 ตัวชี้วัด โดยนิคมฯ ต้องปฏิบัติตามระดับคะแนนตามลำดับขั้นของตัวชี้วัด และผลการตรวจประเมิน ได้ระดับคะแนนรวม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (25 คะแนน) ของคะแนนรวมทั้งหมด (50 คะแนน) จึงผ่านการรับรองการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Champion

                  ระดับที่ 2 “Eco-Excellence” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่สามารถ “พัฒนาและยกระดับ” คุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยความร่วมมือ การพึ่งพาซึ่งกันและกัน    และการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และชุมชน เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ส่วนกัน โดยการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ระดับ Eco-Excellence นิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านการประเมินระดับ Eco-Champion และนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมฯ อย่างน้อยร้อยละ 30 ต้องดำเนินการตาม

      เกณฑ์ตัวชี้วัดระดับ Eco-Excellence เพิ่มเติมอีก 9 เกณฑ์ตัวชี้วัด และผลการตรวจประเมินฯ ได้ระดับคะแนนอย่างน้อยร้อยละ 60 จะได้รับการรับรองระดับ Eco-Excellence E1 และได้คะแนนรวมอย่างน้อยร้อยละ 70 จะได้การรับรอง ระดับ Eco-Excellence E2 ตามลำดับ

                  ระดับที่ 3 “Eco-World Class” หมายถึง นิคมอุตสาหกรรมที่สามารถเป็น ผู้นำในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อส่งเสริม     การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นที่พึ่งของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ระดับ Eco-World Class นิคมอุตสาหกรรมต้องผ่านการประเมินระดับ Eco-Champion และระดับ Eco-Excellence และนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมฯ อย่างน้อยร้อยละ 30 ต้องดำเนินการตามเกณฑ์ตัวชี้วัดระดับ Eco-World Class เพิ่มเติมอีก 7 เกณฑ์ตัวชี้วัด และผลการตรวจประเมินฯ ต้องได้คะแนนรวมจากการประเมิน อย่างน้อยร้อยละ 80

                  โดยการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Champion ถือเป็นขั้นแรกของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate and Networks) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับมาตรฐานของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สามารถไต่ระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากระดับ Eco-Champion สู่ ระดับ Eco-Excellence และ Eco-World Class รายละเอียดตัวชี้วัดและแนวทางปฏิบัติเพื่อขอรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในแต่ละระดับแสดงรายละเอียดในบทที่ 2 สำหรับ ระดับ Eco-Champion บทที่ 3 สำหรับ ระดับ Eco-Excellence และ บทที่ 4 สำหรับ Eco-World Class

Banner Border