การดำเนินงานเพื่อประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กร

 

ในปีงบประมาณ 2562 กนอ. เริ่มนำแนวทางการวัดและประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ตามมาตรฐาน ISO 14045 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแนวนโยบายรัฐบาลซึ่งได้กำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขอบเขตในการประเมินของ กนอ. คือ สัดส่วนระหว่าง รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภค (บาท) ต่อ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในรูปก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการให้บริการสาธารณูปโภค (kg CO2e) โดยพิจารณาในนิคมฯ ที่ กนอ. ดำเนินการเอง จำนวน 12 แห่ง และท่าเรือฯ 1 แห่ง ประกอบด้วย 1) นิคมฯ มาบตาพุด 2) นิคมฯ บางชัน 3) นิคมฯ บางปู  4) นิคมฯ ลาดกระบัง 5) นิคมฯ บางพลี  6) นิคมฯ ภาคเหนือ 7) นิคมฯ แหลมฉบัง 8) นิคมฯ สมุทรสาคร 9) นิคมฯ พิจิตร 10) นิคมฯ ภาคใต้ 11) นิคมฯ แก่งคอย 12) นิคมฯ นครหลวง และ 13) ท่าเรือฯ มาบตาพุด รวมทั้ง กนอ.สนญ.

Eco-Efficiency ของ กนอ.

=

รายได้จากการให้บริการสาธารณูปโภค (บาท)

ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการให้บริการสาธารณูปโภค (kg CO2e)

ในปีงบประมาณ 2562 ผลการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) จากการให้บริการสาธารณูปโภคของ กนอ. (โดยใช้ข้อมูลในปี 2561 เป็นปีฐาน) พบว่า ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ของ กนอ. เท่ากับ 48.54 บาท ต่อ kgCO2e จากนั้น กนอ. ได้จัดทำแผนงาน/โครงการในการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ในกิจกรรมที่ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การผลิตและสูบจ่ายน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย และระบบไฟฟ้าส่องสว่างถนน รวม 29 โครงการ ใช้งบประมาณกว่า 23 ล้านบาท โดยคาดว่าในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปีฐานได้ ร้อยละ 1.5 หรือ 838,000 kgCO2e

            ในปีงบประมาณ 2563 ผลการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)  ของ กนอ. มีค่าเพิ่มขึ้น เท่ากับ 48.96 บาท ต่อ kgCO2e และค่าแฟกเตอร์ เท่ากับ 1.009 ทั้งนี้ กนอ. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแนวทางในการปรับปรุงผลเพื่อให้เข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งนิยาม “เข้าสู่มาตรฐาน” หมายถึง การเข้าสู่แฟคเตอร์ (Factor) ซึ่งเป็นค่าการวัดผลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development)ซึ่งแฟคเตอร์จากการคำนวณอาจได้ค่าเป็นตัวเลขใดๆ เช่น 0.5, 1.0, 1.2, 3.0, 4.0 เป็นต้น โดยสามารถกำหนดกรอบระยะเวลากำกับในการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่แฟคเตอร์ได้ตามบริบทและความเหมาะสมของหน่วยงาน
(ที่มา: คู่มือการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของรัฐวิสาหกิจไทย (ฉบับผู้ปฏิบัติ), มกราคม 2563)

ค่าแฟคเตอร์ (Factor)

=

ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ณ ปีปัจจุบัน

ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ณ ปีฐาน

            ผลการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงผลและกำหนดเป้าหมายค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ของ กนอ. เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐาน จากการสำรวจและตรวจวัดอุปกรณ์/เครื่องจักรในระบบสาธารณูปโภคของนิคมฯ ที่ กนอ. ดำเนินการเอง พบว่า ศักยภาพสูงสุดในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการให้บริการสาธารณูปโภคสามารถลดได้ทั้งหมด ประมาณ 2,500,000 kgCO2e ทั้งนี้ ผวก.กนอ. ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางในการปรับปรุงผลและกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 500,000 kgCO2e เพื่อเพิ่มค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) และค่าแฟคเตอร์ (Factor) ให้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามศักยภาพสูงสุดที่ 2,500,000 kgCO2e ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปีงบประมาณ 2564-2568) เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ กนอ.

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Banner Border